ที่ปรึกษา รมว.ศธ.และคณะ ร่วมประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูภาคอีสาน พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมุกดาหาร จำกัดโพสต์เมื่อ : 9 ธ.ค. 2564 เวลา 05:19 น. IP: 61.90.29.6
(7 ธันวาคม 2564) นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ., นายไพศาล วุทฒิลานนท์ และนายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายนิพนธ์ ก้องเวหา ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ตลอดจนผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประชุม “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน” ร่วมกับผู้จัดการ/ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ณ โรงแรมพลอย พาเลซ จังหวัดมุกดาหาร
นายสุทธิชัย จรูญเนตร กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายให้ครูได้ชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือการรวมหนี้ครูมาไว้ในสถาบันการเงินแหล่งเดียว รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการผ่อนชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด ตลอดจนพัฒนาครูบรรจุใหม่ และครูทุกกลุ่มให้มีความรู้ สร้างวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบื้องต้น ศธ.ได้กำหนดโครงการแก้ปัญหา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ต้นแบบเป็นฐาน เริ่มจากการศึกษาและถอดบทเรียนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) ครูสมุทรปราการ และกำแพงเพชร จากนั้นรับสมัครและคัดเลือก สอ.ครูต้นแบบ ทั้ง 4 ภาค เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณร้อยละ 80 ของครูทั้งหมด ที่มีหนี้รวมกันกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ให้มีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นสมาชิก สอ.ที่มีคุณภาพ มีวินัยทางด้านการเงิน เกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคมต่อไป
ขณะนี้มี สอ.ครู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ภาค 11 ภาค 12 และภาค 14 สมัครเข้าร่วมโครงการ 11 แห่ง ได้แก่ สอ.ครูมุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธ์ุ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมี สอ.ครูเข้าโครงการทั่วประเทศ ประมาณ 40 แห่ง
การประชุมครั้งนี้ ศธ.ได้หารือกับ สอ.ครู ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกทั้ง 20 แห่ง เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครู ที่จะนำมาพิจารณาร่วมกัน อาทิ
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ สอ.ครูให้ต่ำลงไม่เกิน 3% ปัจจุบันอยู่ในระดับ 3.5 – 4% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงเป็นต้นทุนส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่สูงเป็นการเพิ่มภาระเป็นอย่างมากให้ครูผู้กู้
- ปรับลดอัตราดอกเบี้เงินกู้ให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5 – 5.0% ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สอ.ครูเฉลี่ยอยู่ที่ 6 – 9% สถาบันการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 4 – 11%
- จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 30% ของผลกำไร โดยลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น ลดเงินปันผลหุ้น งบบริหารจัดการ เงินโบนัสและค่าตอบแทนกรรมการ รวมทั้งสวัสดิการที่ไม่จำเป็น และงบลงทุนเป็นต้น
- การบริหารความเสี่ยง การสร้างหลักประกันเงินกู้ การปรับลดบุคลค้ำประกัน และปรับลดการซื้อประกันในส่วนที่ไม่จำเป็นลง ซึ่ง ศธ. สามารถต่อรองให้เบี้ยประกันภัยลดลง เช่น สวัสดิการประกันชีวิตกลุ่ม/หมู่ เหลือชำระเบี้ย 2,400 บาท ต่อทุนประกันภัยหนึ่งล้านบาท/ปี
- ปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ ชะลอการฟ้อง-บังคับคดี ใช้การไกล่เกลี่ยให้มากที่สุด
- ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%
- สร้างระบบพัฒนาดูแลสมาชิก ให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางด้านการเงิน การสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออม ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
ในช่วงบ่าย ทปษ.รมว.ศธ. พร้อมด้วยผู้จัดการ/ผู้แทน สอ.ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปศึกษาดูงานที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมุกดาหาร จำกัด ซึ่งคาดหวังให้เป็นต้นแบบของ สอ.ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
|